Categories
Uncategorized

แกงน้ำเคยยอดหวาย

แกงน้ำเคยยอดหวาย

“อาหารจานเด็ด
สุดยอดสูตรอาหารของคนปักษ์ใต้”

    น้ำเคย หรือ เคยปลา คือ กะปิที่ทำมาจากปลา เป็นการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งของคนพัทลุง โดยการเอาปลาน้ำจืดตัวเล็ก ๆ เช่น ปลาซิว ปลาขาว ปลากระดี่ มาทำความสะอาด แล้วคลุกเคล้ากับเกลือ หมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ขึ้นไป นำไปตากแดดแล้วโขลกให้ละเอียด เก็บไว้โดยการอัดไว้ในไห หรือทำเป็นก้อนกลม ๆ ใส่ในถุงพลาสติก
    ว่ากันว่าเคยปลาที่มาจากพัทลุง จะขึ้นชื่อเรื่องความหอมและอร่อยทำให้ แกงน้ำเคย ของจังหวัดนี้จะมีกลิ่นหอมมากกว่าที่อื่น  วิธีทำแกงน้ำเคยยอดหวายง่าย ๆ  คือการโขลกผสมพริกแกงและกะทิเตรียมไว้ นำเคยปลาไปต้มให้เดือด ใส่ข่า ตะไคร้ทุบ และยอดหวายหั่นซอย ตบท้ายด้วยการใส่ปลาย่างเพื่อเพิ่มความหอมอร่อย เป็นอาหารพื้นบ้านจานเด็ดของชาวปักษ์ใต้ ที่ทุกวันนี้ค่อนข้างจะหารับประทานยากขึ้นไปทุกที เนื่องจากวัตถุดิบสำคัญอย่าง เคยปลา ค่อนข้างจะหายากขึ้นนั่นเอง
    แกงน้ำเคยยอดหวายสามารถหารับประทานได้ที่ร้านอาหารเคียงทะเล ร้านแม่จำปี หรือร้านค้าร้านอาหารใต้ทั่วจังหวัดพัทลุง

Categories
Uncategorized

แกงส้มปลาแขยงมันขี้หนู

แกงส้มปลาแขยงมันขี้หนู

“เมนูหายาก ที่รสชาติโดนใจ”

      ปลาแขยงเป็นปลาเนื้ออ่อน พบได้ที่ชายทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่ตำบลลำปำ อำเภอเมือง เรื่อยถึงจนตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน นอกจากจะใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามแล้วยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้ด้วย ลักษณะเนื้อปลาแขยงสดหวาน และที่สำคัญมีไข่เต็มท้องเกือบทุกตัว นิยมนำไปทำแกงส้ม และแกงเผ็ด เป็นปลาที่หากินได้ยาก จะสามารถจับได้เพียงครั้งเดียวในแต่ละปีเท่านั้น
    เอกลักษณ์ของอาหารจานนี้คือรสชาติเข้มข้นด้วยรสเปรี้ยวนำและสีเหลืองจากขมิ้นสดประจำเมนูอาหารปักษ์ใต้ ใส่ปลาต้มทั้งตัว ต้มรวมกับผักในท้องถิ่นใกล้ตัว บวกกับมันขี้หนู มีรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม กลมกล่อม รสชาติลงตัว โดยมันขี้หนู เป็นพืชเศรษฐกิจทางภาคใต้ เนื้อหัวมันละเอียด ให้รสมันและหวานเล็กน้อย การรับประทานแกงส้มที่มีรสจัดให้อร่อย มักมีผักสดประกอบรับประทานกับปลาเค็มทุกประเภท ข้าวสวยร้อน ให้ผสมผสานกัน ถือเป็นศิลปะสำคัญอย่างหนึ่งในการรับประทานอาหารปักษ์ใต้เลยทีเดียว
    เมนูแกงส้มปลาแขยงมันขี้หนูสามารถหารับประทานได้ที่ร้านอาหารบางชาม ร้านหลานตาชูสเต็กเฮ้าส์ และร้านอาหารใต้อื่น ๆ ทั่วจังหวัดพัทลุง

Categories
Uncategorized

ร้านอาหารหลานตาชู

ร้านอาหารหลานตาชู

“อาหารขึ้นชื่อหลากชนิด
กับร้านยอดฮิต หลานตาชูแห่ง พัทลุง”

    หากพูดถึงร้านอาหารขึ้นชื่อของพัทลุงย่อมต้องมี ร้านหลานตาชู สเต็กเฮาส์ เป็นร้านอาหารยอดนิยมร้านหนึ่งของจังหวัดที่เปิดมากว่า 20 ปี มีอาหารหลากหลายสไตล์ให้เลือกรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นบ้าน อาหารฝรั่ง หรือแม้แต่อาหารญี่ปุ่น แต่หากจะพูดถึง 10 เมนูแนะนำของทางร้านต้องเป็น แกงส้มปลานวลจันทร์มันขี้หนู ปลาตะเพียนไร้ก้างทอดราดน้ำปลา ขาหมูหลานตาชู ไส้กรอกเยอรมันย่างรวม 4 แบบ  บาร์บีคิวซี่โครงหมู บาร์บีคิวหมูพริกไทยดำ ยำตะไคร้ ซี่โครงหมูอบเห็ดสามอย่าง ห่อหมกทะเลมะพร้าวอ่อน และตำข้าวโพดไข่เค็ม ส่วนของหวานที่ไม่ควรพลาดคือ ชีสเค้กญี่ปุ่น เนื้อนุ่ม กับ ช็อกโกแลตฟัดจ์ หรือหากใครชอบขนมไทยก็ไม่ควรพลาด ขนมลูกตาลมะพร้าวอ่อน และข้าวต้มมัด ไส้เผือก ไส้กล้วย
    ร้านหลานตาชูถือว่าเป็นร้านอาหารที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดีร้านหนึ่ง ด้วยรสชาติอาหารที่อร่อย ราคาก็สมเหตุสมผล บวกกับบรรยากาศของร้านที่ตกแต่งด้วยไม้ให้มีกลิ่นอายแบบ ล็อคโฮม สบายๆ สำหรับมื้อพิเศษต่างๆ ของคุณ

             ร้านหลานตาชู มีบริเวณทานอาหารให้เลือกหลายโซน พร้อมห้องจัดเลี้ยงไว้รองรับสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว นอกจากอาหารคาวหวาน แล้วฝั่งตรงข้ามถนนยังมี หลานตาชูคอฟฟี่ ร้านกาแฟและศูนย์จำหน่ายของฝาก หลานตาชูคอฟฟี่ มีทั้งเค้ก ชา กาแฟ สมูทตี้ ขนมลูกตาลมะพร้าวอ่อน และข้าวต้มมัด มีที่นั่ง รองรับลูกค้าผู้มาเยือน หากใครผ่านมาทางถนนสายเอเชียที่ 41 ถนนสายจังหวัดพัทลุงไปสู่จังหวัด นครศรีธรรมราช ก็ลองแวะมาทานอาหารและของว่างกันได้ มิเช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงพัทลุง

เปิดบริการทุกวัน : เปิดเวลา 10.00 น. – 22.00 น.
สาขา 1 : สาขาควนขนุน โทร. 081-957-6428, 074-681-658
ที่อยู่ : 221 ม.9 ทางหลวงหมายเลข 41 ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
สาขา 2 : สาขาในเมือง โทร. 088-792-2787, 074-617-988

 

Categories
Uncategorized

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว

“พาไปชมการแกะหนังตะลุงแบบต้นฉบับ
ความวิจิตรบรรจงอันทรงคุณค่าของภาคใต้”

    หากอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของพัทลุงอันเลื่องชื่ออย่างศิลปะการแกะหนังตะลุง สามารถมาเรียนรู้กระบวนการทำแบบต้นฉบับแท้ๆได้ที่ ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ศูนย์การเรียนรู้การทำหนังตะลุงที่เพิ่มคุณค่าให้กับงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านจนก้าวไกลถึงระดับโลก อีกทั้งยังสร้างความตระหนักในการรักษาและสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านอันวิจิตรงดงามควรค่าแก่การรักษาไม่ให้สูญหาย ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2542 โดยผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นบรมครู แกะหนังตะลุงของภาคใต้อย่างครูอิ่ม จันทร์ชุม ครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้การแกะหนังตะลุงแก่ลูกศิษย์ที่มีความสนใจใคร่รู้เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาอันมีค่าต่อไป ซึ่งการจะทำงานหัตถกรรมรูปหนังออกมาได้นั้น ต้องอาศัยฝีมือและระยะเวลาในการทำขึ้นอย่างประณีต ก่อนจะออกมาเป็นรูปหนังสำหรับการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนังตะลุง โดยปัจจุบันไม่ได้ผลิตขึ้นสำหรับการแสดงหนังตะลุงเพียงอย่างเดียว แต่ยังผลิตเพื่อใช้เป็นสินค้าที่ระลึกอีกด้วย ซึ่งมีให้เลือกซื้อทั้งรูปหนังตะลุง รูปหนังใหญ่ และภาพศิลป์

    อีกทั้งยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาหนังตะลุง พวงกุญแจหนังตะลุงและอื่นๆตามแต่จะสร้างสรรค์ เรียกได้ว่าหากใครมาที่ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว นอกจากจะได้เดินชมการแกะหนังตะลุงแบบต้นฉบับแล้ว ยังได้ซื้อหาของฝากอันมีคุณค่าทางภูมิปัญญาติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย

ข้อมูลการเดินทาง                              
รถยนต์  : ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ห่างจากตัวเมือง 36 กิโลเมตร จากสามแยกถนนเพชรเกษม ตรงไปทางรถไฟประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากทางรถไฟ 200 เมตร 
วันเปิดทำการ : ทุกวัน       
เวลาเปิดทำการ : 08.00 น. – 16.00 น.                                       
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 1 บ้านบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
โทร : 074-697-373, 074-697-548, 084-860-5414  

Categories
Uncategorized

วัดถ้ำสุมะโน

วัดถ้ำสุมะโน

“แหล่งปฏิบัติธรรม
น้อมนำคำพระอาจารย์เดช สุมโน”

    ถ้ำสุมะโน ได้รับการตั้งชื่อตามพระอาจารย์ เดช สุมโน ซึ่งเป็นผู้ค้นพบถ้ำแห่งนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2530 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ ในขณะที่ท่านมีอายุ 36 ปี พรรษา 14 ต่อมาใน วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 พระอาจารย์ เดช สุมโน และคณะชาวจังหวัดภูเก็ต โดยการนำของ คุณณรงค์ นพดารา รวมทั้งพุทธบริษัททั้งหลาย ได้รวบรวมปัจจัยซื้อที่ดินบริเวณรอบเขาสองลูก พัฒนาบริเวณถ้ำแห่งนี้ให้กลายเป็นวัดและได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2535 ในชื่อว่า วัดถ้ำสุมะโน
    ในภายหลังมีผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินรอบเชิงเขา และซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบถวายเพิ่ม จนทำให้วัดมีพื้นที่ถึง 500 ไร่ ยังมีการค้นพบถ้ำมากถึง 18 ถ้ำบริเวณใกล้เคียง คือ ถ้ำพระอุโบสถ ถ้ำหอฉันบรรจบ ถ้ำนพดารา ถ้ำอรทัย ถ้ำสุพัฒชนะ(ฤๅษี) ถ้ำพุทธบัณฑิต ถ้ำนกคุ้ม ถ้ำแก้ว ถ้ำแม่มหามงคล ถ้ำน้ำลอด ถ้ำพญานาค พ่อมหาราช ถ้ำหลวงพ่อทราย ถ้ำพระธาตุสิวลี(น้ำตก) ถ้ำพระนอน ถ้ำมาฆะ ถ้ำลับแล และ ถ้ำค้างคาว
    ที่กระจายอยู่รอบภูเขา 2 ลูก หลายถ้ำสามารถเดินทะลุถึงกันได้ มีปากถ้ำเชิงเขา ซึ่งภายในวัดจะมีแผนผังการเดินทางไปชมถ้ำต่างๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดูศึกษาเส้นทางอีกด้วยที่และนอกจากวัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาแล้ว ยังมีการเปิดเป็นสถานปฏิบัติธรรมตามโอกาสต่างๆ เช่น การปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะชีพราหมณ์ตลอดทั้งปี ปฏิบัติธรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง ปฏิบัติธรรมวันมาฆะบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) อบรมพัฒนาจิตหลักสูตรคุณแม่ดร.สิริ กรินชัย ฉลองครบรอบพัฒนาวัดถ้ำประจำปี มีการปฏิบัติธรรม และทำบุญตักบาตรพระอยู่ธุดงค์ปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรม ปฏิบัติธรรม และเวียนเทียนรอบภูเขา วันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน ๖) ประเพณีการทอดกฐินสามัคคี และปฏิบัติธรรม ในวันอาทิตย์ที่หลังจากออกพรรษาของทุกปี

    พุทธศาสนิกชน สามารถไปปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำสุมะโนได้ตลอด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของวัดโดยตรง

ที่ตั้ง : วัดถ้ำสุมะโน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
เบอร์โทร : 074-231-055, 074-238-518
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00 – 16.00

Categories
Uncategorized

ผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุง

ผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุง (ตุ๊กตาหนังตะลุงและพวงกุญแจหนังตะลุง)

“เก็บความวิจิตรงดงามของหนังตะลุงกลับบ้าน
หัตถกรรมพื้นบ้านต้นกำเนิดจากเมืองลุง”

    ผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุงเป็นของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัดพัทลุง หนังตะลุงเกิดจากการคิดค้นการนำหนังวัวมาแกะเป็นรูปจนเกิดเป็นตัวหนังสำหรับแสดงหนังตะลุงของตาหนูนุ้ยและตาหนักทอง หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของภาคใต้ มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดพัทลุงบริเวณบ้านควนมะพร้าว อำเภอเมือง ลักษณะการแสดงเงาบนจอผ้าโดยการเชิดตัวหนังให้เคลื่อนไหวรับกับบทพากย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นมหรสพที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมแล้ว ยังสะท้อนแง่มุมของสังคมและการเมืองในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการผสมผสานระหว่างการละเล่นหนังใหญ่และหนังแบบชวา ประกอบกับวิถีพื้นบ้านภาคใต้จนกลายมาเป็นการแสดงหนังตะลุงที่พบเห็นในปัจจุบัน และกลายเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันวิจิตรงดงามที่ถูกสืบทอดต่อกันจวบจนทุกวันนี้ แต่เดิมเป็นการแกะหนังเพื่อใช้สำหรับการแสดงมหรสพพื้นบ้านโดยเฉพาะ จึงเป็นรูปตัวละครที่ใช้ในการแสดงตัวอย่างเช่น ตัวฤาษี ตัวพระ ตัวนาง หนูนุ้ย เท่ง ทอง เป็นต้น 

    หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาประยุกต์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาหนังตะลุง พวงกุญแจหนังตะลุง หรือรูปหนังตะลุงโดยนิยมใช้รูปตัวละครในวรรณคดีอื่นๆ เช่น พระราม นางสีดา หนุมาน นางฟ้า เทวดี ครุฑ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรูปหนังใหญ่ และภาพศิลป์อีกด้วย ซึ่งหากใครมาพัทลุงแล้วอยากเก็บความวิจิตรงดงามของงานหัตถกรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้กลับไปฝากคนที่บ้าน อีกทั้งยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย ก็สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุงไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาหรือพวงกุญแจก็หาซื้อง่ายจากแหล่งจำหน่ายในพัทลุง

Categories
Uncategorized

ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น

ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น

“ยกยอมาสด ๆ เสริมแคลเซียมของดีเมืองลุง”

     ปลาลูกเบร่เป็นปลา 2 น้ําพบได้แค่ในพื้นที่ปากประ ทะเลน้อยของจังหวัดพัทลุง วิธีีการจับปลาชนิดนี้ต้องใช้ตาข่าย ถักถี่แบบกระชอนช้อนลูกนํ้าขนาดยักษ์หรือที่เราเรียกกันว่า “ยอ” ดักจับกลางนํ้าในแบบฉบับ “มนต์เรียกปลา” ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น เป็นเมนูของดีเมืองลุงกับวัตถุดิบตัวเล็กแต่ความอร่อยไม่เล็ก ใช้ปลาลูกเบร่สด ๆ คลุกด้วยเครื่องขมิ้นสด เกลือ นําไปทอดในน้ํามันร้อนจัดจนกรอบและได้สีเหลืองนวล โรยใบมะกรูด จะมีความกรอบปนนุ่ม รับประทานได้ทั้งตัว นํา ไปรับประทานกับข้าวต้ม ข้าวสวยร้อน ข้าวเหนียว หรือจะยํากับมะม่วงเปรี้ยวก็ได้ความกลมกล่อม เป็นอาหารมีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีแคลเซียมสูง บํารุงกระดูก มีโปรตีนย่อยง่าย สามารถหาซื้อรับประทานได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป

Categories
Uncategorized

ปลาดุกร้า

ปลาดุกร้า

“ภูมิปัญญาความอร่อย แห่งทะเลน้อย”

    ปลาดุกร้าเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของภาคใต้ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารที่มีมาแต่โบราณ มีรสชาติที่กลมกล่อมทั้งรสเค็มและรสหวาน รวมทั้งมีกลิ่นหมักที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยจังหวัดพัทลุงจัดได้ว่าเป็นแหล่งผลิตปลาดุกร้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ซึ่งอยู่ในเขตตำบลทะเลน้อย
    ปลาดุกร้ามีลักษณะคล้ายปลาเค็ม มีรสชาติเฉพาะคือ รสเค็มปนหวานและมีกลิ่นหมัก เมื่อนำไปทอดหรือย่างจะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ยิ่งบีบมะนาว กินกับเครื่องเคียงอย่างพริก หอมแดงซอย จะยิ่งเพิ่มรสชาติของปลาดุกร้าให้อร่อยมากขึ้น สำหรับการทำปลาดุกร้า เริ่มจากการคัดปลาดุกสด มาตัดหัว เอาเครื่องในออก 

    ล้างให้สะอาดแล้วนำไปผึ่งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นผสมเกลือ น้ำตาล คลุกและยัดใส่ท้องปลา แล้วนำไปหมักในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นจึงนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน
    ปัจจุบันปลาดุกร้านอกจากจะเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของทะเลน้อยแล้ว ยังเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความอร่อยที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจไม่น้อย

Categories
Uncategorized

ต้มกะทิสายบัวกุ้งสด

ต้มกะทิสายบัวกุ้งสด

“จากวัตถุดิบในพื้นที่ สู่ของดีต้มกะทิสายบัว”

    อีกหนึ่งเมนูอาหารขึ้นชื่อของชาวพัทลุงก็คือ ต้มกะทิสายบัว เมนูที่ได้จากวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ง่ายๆในพื้นที่ อย่างสายบัวหรือก้านบัวแดง มาแกงให้ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำแกงกะทิสุดเข้มข้น และกุ้งขนาดพอดีคำ รสชาติ หอม มัน ที่มาพัทลุงแล้วห้ามพลาด
    ต้มกะทิสายบัว เป็นเมนูพื้นบ้าน ที่นิยมทำเพราะหาวัตถุดิบได้ไม่ยาก ได้แก่ สายบัว กุ้งสดแกะเปลือก กะทิสด หอมแดง พริกไทยเม็ด กะปิ เกลือ น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ไว้ปรุงรส

    วิธีทำไม่ยากเพียงแค่ตำเกลือกับพริกไทยให้ละเอียด ตามด้วยหอมซอยและกะปิ เมื่อตำเสร็จก็พักไว้ ตั้งกะทิให้เดือดแล้วจึงใส่ส่วนผสมที่พักไว้แล้วลงไป คนให้เข้ากันใส่สายบัวที่หั่นเตรียมไว้ลงไป เมื่อน้ำเดือดก็สามารถปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ น้ำปลาให้อร่อยตามใจชอบ ตั้งไปไว้รอเดือดอีกครั้งก็ใส่กุ้งสด เมื่อกุ้งสุกก็ถือว่าพร้อมรับประทาน

Categories
Uncategorized

เปียกสาคู

เปียกสาคู

“แป้งจากต้นสาคู สู่ขนมขึ้นชื่อพัทลุง”

    เปียกสาคู ขนมขึ้นชื่อของพัทลุงเพราะวัตถุดิบของที่นี่ เป็นแป้งสาคูที่ได้มาจากต้นสาคูในท้องที่ ที่ชาวบ้านได้มีการแปรรูปขายให้ได้ชิมและซื้อกลับบ้านไปทำ
    วิธีทำเปียกสาคู คือต้มน้ำให้เดือด จากนั้นค่อยๆเทแป้งลงไปในน้ำแล้วคนไปในทางเดียวกันจนกว่าแป้งจะหมด กวนไปเรื่อยๆโดยใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อน ค่อยๆกวนไปจนได้แป้งในลักษณะที่เรียกว่า ตากบ คือมีแป้งดิบเล็กๆอยู่ด้านใน พอเริ่มได้แล้วก็ใส่น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลตโนดลงไปกวนด้วยสามารถปรับรสความ

    หวานได้ตามที่ต้องการ แป้งสาคูจากต้นสาคูเมื่อกวนแล้วจะได้สีน้ำตาลอมส้มสวยงามและมีกลิ่นรสเฉพาะตัว จะไม่เหมือนสาคูเม็ดที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หลังจากกวนเสร็จยกออกจากเตาพักไว้ รับประทานคู่กับน้ำกะทิราด โดยใช้กะทิกับเกลือเคี่ยวไฟเบา 2-3 นาที โดยชิมเอาความเค็มพอได้ตามต้องการ ตักสาคูใส่ถ้วยแล้วราดด้วยน้ำกะทิที่เตรียมไว้ตามเท่านี้ก็ได้ เปียกสาคูที่ทำจากสาคูต้น ขนมขึ้นชื่อของพัทลุงเรียบร้อย