ผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุงเป็นของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัดพัทลุง หนังตะลุงเกิดจากการคิดค้นการนำหนังวัวมาแกะเป็นรูปจนเกิดเป็นตัวหนังสำหรับแสดงหนังตะลุงของตาหนูนุ้ยและตาหนักทอง หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของภาคใต้ มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดพัทลุงบริเวณบ้านควนมะพร้าว อำเภอเมือง ลักษณะการแสดงเงาบนจอผ้าโดยการเชิดตัวหนังให้เคลื่อนไหวรับกับบทพากย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นมหรสพที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมแล้ว ยังสะท้อนแง่มุมของสังคมและการเมืองในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการผสมผสานระหว่างการละเล่นหนังใหญ่และหนังแบบชวา ประกอบกับวิถีพื้นบ้านภาคใต้จนกลายมาเป็นการแสดงหนังตะลุงที่พบเห็นในปัจจุบัน และกลายเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันวิจิตรงดงามที่ถูกสืบทอดต่อกันจวบจนทุกวันนี้ แต่เดิมเป็นการแกะหนังเพื่อใช้สำหรับการแสดงมหรสพพื้นบ้านโดยเฉพาะ จึงเป็นรูปตัวละครที่ใช้ในการแสดงตัวอย่างเช่น ตัวฤาษี ตัวพระ ตัวนาง หนูนุ้ย เท่ง ทอง เป็นต้น
หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาประยุกต์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาหนังตะลุง พวงกุญแจหนังตะลุง หรือรูปหนังตะลุงโดยนิยมใช้รูปตัวละครในวรรณคดีอื่นๆ เช่น พระราม นางสีดา หนุมาน นางฟ้า เทวดี ครุฑ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรูปหนังใหญ่ และภาพศิลป์อีกด้วย ซึ่งหากใครมาพัทลุงแล้วอยากเก็บความวิจิตรงดงามของงานหัตถกรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้กลับไปฝากคนที่บ้าน อีกทั้งยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย ก็สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์จากหนังตะลุงไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาหรือพวงกุญแจก็หาซื้อง่ายจากแหล่งจำหน่ายในพัทลุง