พิธีกรรมเก่าแก่ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดหากได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมที่พัทลุง เพราะพิธีกรรมมโนราห์โรงครูที่วัดท่าแคมีความพิเศษกว่าที่อื่น ตรงที่เป็นงานใหญ่ที่มีผู้คนมาร่วมงานหลายพันคน มีทั้ง “ครูหมอโนรา” หรือ “ตายายโนรา” บรรดามโนราห์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงผู้สนใจ ทั้งนี้การแสดงโนราหรือมโนราห์นั้นเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่มีสองลักษณะคือ มโนราห์ที่เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไป กับมโนราห์โรงครู เป็นการแสดงเพื่อบูชา “ครูหมอโนรา” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้สืบสายเลือดการแสดงที่ล่วงลับไปแล้วด้วยความกตัญญ
พิธีจะจัดในช่วงขึ้นเดือน 6 ในช่วงปลายเดือนเม.ย.- พ.ค. ของทุกปี คณะมโนราห์และลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ จะจัดกิจกรรม “โนราโรงครู” ขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญูต่อครูหมอโนรา และบรรพบุรุษ มีการทำพิธีแก้เหมย(แก้บน) รวมทั้งประกอบพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอกให้กับโนรารุ่นใหม่ คนที่นี่มีความเชื่อว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน โนราก็ไม่มีวันสูญหายเพราะมีพิธีกรรมและความเชื่อที่ลูกหลานจะต้องสืบทอดวิชาต่อจากบรรพบุรุษ ซึ่งถ้าลูกหลานคนไหนที่ถูกเลือกสรรไว้แล้วไม่สืบทอดต่ออาจจะมีอันเป็นไป หรือไม่ก็เจ็บไข้ได้ป่วย และในช่วงทำพิธีเชิญครู บวงสรวงครู ก็มีบรรดาหญิงและชายจำนวนหนึ่งเข้ามาในพิธีด้วยท่าทางที่แตกต่างกันไป ทั้งรำเข้ามาอย่างอย่างสวยงาม เต้นเข้ามา ปีนเสาเต็นท์ ร้องไห้และมีญาติประคองเข้ามา ทำท่าขึงขัง ตัวสั่น หรือบางคนอยู่ในวัยหนุ่มสาวแต่นั่งเคี้ยวหมาก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อของคนที่นี่ ว่าเป็นเพราะครูหมอโนรามาเข้าทรง เนื่องจากคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นครูหมอโนราอยู่แล้ว
สองจุดสำคัญที่ผู้คนรอชมกันก็คือ “พิธีรำคล้องหงส์” และ “การรำแทงเข้” โดยก่อนจะคล้องหงส์บริเวณลานด้านนอก ภายในโรงพิธีจะจัดแสดงเรื่องพระสุธน มโนราห์ ในส่วนของการรำแทงเข้ มาจากความเชื่อในเรื่องการทิ้งเคราะห์ลอยโศกไปกับจระเข้ จะทำให้การดำเนินชีวิตราบรื่นด้วยดี โดยโนราเจ้าพิธีจะแสดงเป็น “ไกรทอง” พาพรรคพวกออกมาจากโรงพิธีไปลานที่ตั้งจระเข้จำลอง คล้ายกับการไปไล่ล่าชาละวัน
ส่วนอีกพิธีคือ “เหยียบเสน” ซึ่งเป็นเนื้องอกที่นูนขึ้นมาเป็นแผ่นสีแดง เรียกว่าเสนทอง ถ้าเป็นแผ่นสีดำ เรียกเสนดำ เสนจะไม่มีอาการเจ็บ หากเป็นตรงไหน หลังจากโนราใหญ่ทำพิธีตามขั้นตอนเสร็จ พร้อมว่าคาถากำกับและร่ายรำท่าเฉพาะ โนราใหญ่จะใช้หัวแม่เท้าไปแตะตรงที่เป็นเสนแล้วเหยียบเบาๆ จากนั้นนำกริชพระขรรค์ ไปแตะตรงที่เป็นเสนและบริกรรมคาถา ทำเช่นนี้สามครั้ง เชื่อกันว่าหลังจากนี้เสนจะค่อยๆ หายไป ถ้าไม่หายให้ทำอีกจนครบสามครั้ง เสนจะหายหมด ในงานนี้พ่อแม่ต่างหอบลูกจูงหลานหลายสิบคนมาทำพิธี
เรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อ เป็นวิถีของชาวใต้ ชาวท่าแค พัทลุง ที่ผูกพันอยู่กันมาตั้งแต่โบราณ และเชื่อว่าโนราจะยังคงอยู่กับคนพวกเค้าต่อไปอีกต่อไปตราบนานเท่านาน หากได้มาลองสัมผัสจะรู้สึกได้ถึงความสวยงามและมนต์ขลังของที่นี่
ข้อมูลการติดต่อ : ที่วัดท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง 93000
สามารถสอบถามได้ที่ facebook มโนราโรงครูท่าแคและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ (สงขลา-พัทลุง)
โทรศัพท์ 074-243-747